มูลนิธิพุทธรักษา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตา ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์จดจำ หรือ My Eye Memory (MeM) นวัตกรรมฝีมือคนไทย มาตรฐานระดับสากล ที่จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถติดต่อสื่อสารกับคนในสังคมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลงานอุปกรณ์จดจำ (MeM) นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยราชสุดา ได้ร่วมกับทรู อินโนเวชั่น พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา แทนการใช้เครื่องเขียนอักษรเบรลล์ด้วยมือชนิดพกพา (Slate and Stylus) ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักเรียนผู้พิการทางสายตา โดยอุปกรณ์จดจำ (MeM) นี้ จะช่วยให้จดบันทึก แก้ไขข้อมูล ทำสำเนา และส่งข้อมูลต่อให้ผู้อื่นได้สะดวกยิ่งขึ้น มีจุดเด่นในการพิมพ์และจดบันทึกลงบนเบรลล์คีย์บอร์ดที่มีหน่วยความจำในตัว โดยช่วยบันทึกและส่งต่อข้อมูลประเภทเอกสารทั้งภาษาไทยและอังกฤษ สามารถแสดงข้อมูลด้วยเสียง เพื่อย้อนกลับไปฟังความถูกต้อง และส่งข้อมูลที่บันทึกไปยังอุปกรณ์ไอที ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งต่อให้ผู้อื่นได้ทั้งการแชต อีเมล และข้อความ SMS
ด้าน ทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์ ประธานกรรมการมูลนิธิพุทธรักษา กล่าวว่า มูลนิธิฯได้สนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กที่ขาดโอกาสมาอย่างต่อเนื่อง จึงร่วมสนับสนุนการผลิตอุปกรณ์จดจำ (MeM) 100 เครื่องแรกนี้ ส่งมอบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 50 เครื่อง เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับโรงเรียนสอนคนตาบอดในภาคเหนือและภาคใต้ และมอบให้แก่วิทยาลัยราชสุดา 50 เครื่อง เพื่อใช้ในการเรียนการสอนของวิทยาลัยสุดท้าย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ผลงานนวัตกรรมอุปกรณ์จดจำ (MeM) สำหรับผู้พิการทางสายตาเป็นนวัตกรรมที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทเมล็ดพันธุ์ความคิด จากโครงการประกวดทรู อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ เดอะ เรียลลิตี้ 2012 ซึ่งเราได้นำมาพัฒนาต่อยอดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาย่อมเยา พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่สะดวก ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสื่อสารกับคนปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.
เครดิต ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 20 ส.ค. 2558